ธรรมาภิบาลกับโซเชียลมีเดีย พลังเงียบแรงกดดันทางสังคม
Aug 25 , 2017
ผู้แทนจาก UNDP เข้าพบนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและผู้บริหาร THAI CG FUNDS หารือความร่วมมือสนับสนุนกองทุนธรรมาภิบาลไทยสู่ระดับโลก
Feb 5 , 2018

ให้เงินทองเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยกองทุนรวมธรรมาภิบาล

โอกาสและตัวเลือกของคนไทย ที่จะได้ลงทุนในกองทุนรวมที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว กำลังจะมีเพิ่มขึ้น

โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำ 11 แห่ง ได้จับมือกันจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” เพื่อลงทุนเน้น ๆ ในหุ้นของบริษัทที่มีธรรมาภิบาลดี พร้อมทั้งนำค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนประมาณ 40% กลับไปพัฒนาสังคมผ่านการสนับสนุนโครงการหรือองค์กรที่มีแนวคิดสร้างเสริมธรรมภิบาลหรือต่อต้านคอร์รัปชั่น

ทั่วโลกตระหนักถึงการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น


ปัญหาสำคัญระดับโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Climate change ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการทำปศุสัตว์ที่ขาดความสมดุล รวมถึงปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับโลกในระยะยาว และเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนในระยะสั้นถึงระยะกลาง ตามลำดับ



วงการบลจ. และนักลงทุนสถาบันทั่วโลก ซึ่งตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงมีการลงทุนในธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและมีนโยบายทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนั้นจะเกิดขึ้นแก่บริษัทเอง อีกทั้งยังมีนโยบายช่วยให้โลกด้วยเช่นกัน ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน และนักลงทุนรายย่อยที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆกัน จึงเกิดเป็นไอเดียการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ(Sustainable and Responsible Investing – SRI) ซึ่งกลายเป็นรูปแบบการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทั่วทุกภูมิภาคของโลก


เราลองมาดูตัวเลขของสินทรัพย์ของการลงทุนอย่างยั่งยืน เติบโตขึ้นมากกว่า 25% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งมีการกระจายตัวมากขึ้น

โดยหลักการลงทุนอย่างยั่งยืน จะเน้น 3 ด้านนอกเหนือไปจากปัจจัยด้านการเงิน ได้แก่


สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Society) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งรวมเรียกว่าหลัก “ESG”

การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

ที่ผ่านมาบลจ.ในประเทศมีการเสนอขายกองทุนรวมที่เน้นแนวคิดความยั่งยืนอยู่บ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิธีคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ในลักษณะ Negative/Exclusionary Screening ซึ่งคือการไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีธุรกิจขัดกับหลัก ESG

ตัวอย่างกองทุนที่เน้นลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เช่น กองทุนเปิดบรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว หรือ CG-LTF ของบลจ.ยูโอบี กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF) ของบลจ.บัวหลวง กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกฟันด์ (MIF) ของบลจ.เอ็มเอฟซี โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมประเภทนี้มีรวมกันมากกว่า 20,000 ล้านบาท


ก้าวใหม่ก้าวใหญ่ของการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บลจ.ชั้นนำ 11 รายของประเทศไทย ได้รวมตัวกันประกาศเจตนารมณ์จัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” เพื่อเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลัก ESG โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 5 ด้านคือ


1.สร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนให้ผู้ลงทุนในกองทุนรวม
2.จูงใจให้บริษัทจดทะเบียนยึดหลัก ESG ในการทำธุรกิจ (เพื่อให้หุ้นตัวเองถูกซื้อเข้าไปอยู่ในกองทุน)
3.สร้างค่านิยมในการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์
4.ยกระดับตลาดทุนไทยในด้าน ESG และกระตุ้นให้บลจ.คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวที่ยั่งยืนของผู้ลงทุน
5.เป็นแหล่งทุนสนับสนุนองค์กรหรือโครงการภาคประชาสังคม ผ่านการบริจาคตามสัดส่วนของค่าธรรมเนียมการจัดการที่บลจ.ได้รับ
โดยบลจ. ทั้ง 11 แห่งที่เข้าร่วมเจตนารมณ์นี้ ได้แก่ กรุงไทย กรุงศรี กสิกรไทย ทหารไทย ทาลิส ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ บัวหลวง บางกอกแคปปิตอล ยูโอบี (ประเทศไทย) และ เอ็มเอฟซี

หลักในการเลือกลงทุนของกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย

บลจ.ที่เข้าร่วมเจตนารมณ์นี้ จะเสนอขายกองทุนรวมกองใหม่ที่มีหลักในการคัดเลือกหุ้นในกองทุน ดังนี้
1. ได้รับการจัดอันดับธรรมาภิบาล (CG Rating) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 4 ดาวขึ้นไป ซึ่งมีบริษัทที่เข้าข่ายทั้งหมด 275 บริษัท (แต่ไม่หมายความว่าจะถูกซื้อลงทุนทั้ง 275 บริษัท ขึ้นอยู่ปัจจัยด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น แนวโน้มทางการเงิน) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทในแต่ระดับ CG Rating ได้ >>ที่นี่<< เริ่มที่หน้า 65 เป็นต้นไป
2. ได้รับการรับรองตามโครงการแนวร่วมภาคปฏิบัติภาคเอกชนไทยต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือ Thailand’s Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้รับการรับรอง CAC ได้ >>ที่นี่<<

ประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ

1. มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะบริษัทที่กองทุนไปลงทุน มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี และคำนึงถึงอนาคตในระยะยาวของทุกภาคส่วน
2. ได้สนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม
3. ได้ร่วมสนับสนุนองค์กรหรือโครงการด้านความยั่งยืน ผ่านค่าธรรมเนียมการจัดการบางส่วนที่บลจ.จัดสรรให้

กำหนดการเสนอขายกองทุน

นักลงทุนท่านใดที่เห็นว่าแนวทางของ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเองและส่วนรวม ก็สามารถติดตามรายละเอียดการออกและเสนอขายของบลจ.ต่าง ๆ ได้เร็ว ๆ นี้ที่นี่ครับ www.cgfundthailand.com